Bishopbark Article ขึ้นทะเบียนหมา-แมว ผู้เลี้ยงขอความชัดเจนจากรัฐบาลเรื่องแผนช่วยเหลือสัตว์ กรมปศุสัตว์ชี้เป็นก้าวแรกแก้ปัญหาสัตว์จรจัด

ขึ้นทะเบียนหมา-แมว ผู้เลี้ยงขอความชัดเจนจากรัฐบาลเรื่องแผนช่วยเหลือสัตว์ กรมปศุสัตว์ชี้เป็นก้าวแรกแก้ปัญหาสัตว์จรจัด

คนรักสุนัขและแมวบางส่วน เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ต้องการความชัดเจน เรื่องเงินลงทะเบียนที่จะจัดเก็บ จะนำไปช่วยเพิ่มสวัสดิการสัตว์เลี้ยงได้อย่างไร

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (10 ต.ค. 2561) รับทราบหลักการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ…. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีรายละเอียดกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน และกำหนดโทษเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฎิบัติตามได้ เป็นค่าปรับไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งก่อให้เกิดกระแสถกเถียงในหมู่คนรักสัตว์ โดยเฉพาะเจ้าของสุนัขและแมว

แต่ล่าสุด ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกส่งกลับไปให้กระทรวงเกษตรฯ ทบทวนใหม่ หลังนายกรัฐมนตรีเห็นว่า จะก่อให้เกิดภาระกับประชาชนมากเกินไป

“ผมรอการลงทะเบียนสัตว์มานานมากแล้ว” ยอร์ช – สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ เจ้าของเพจ Gluta Story ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “ปัญหาคือ เงิน 450 บาทที่เราต้องจ่าย รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงว่า จะเอาไปทำอะไร ไม่เหมือนต่างประเทศที่ชัดเจน และเขานำไปเพิ่มสวัสดิการให้สัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี”

สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ เจ้าของเพจ Gluta Story
คำบรรยายภาพ,สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ เจ้าของเพจ Gluta Story

สรศาสตร์ มองว่า เงิน 450 บาท “ไม่ได้แพงอะไรเลย หากทำเพื่อหมาแมวที่เรารัก” เขาบอกด้วยว่าจากการฟังความเห็น และการพูดคุยกันในเพจ และกรุ๊ป Gluta Story Club พบว่ามีความเห็นแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ยอมจ่ายแต่ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเหลือสุนัขจรจัด ที่อาจไม่พร้อมจ่าย เพราะมีสุนัขที่ต้องดูแลจำนวนมาก

ค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง

450 บาท

ค่าใช้จ่ายทั้งหมด

  • 50 บาท ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียน
  • 100 บาท สมุดประจำตัวสัตว์
  • 300 บาท เครื่องหมายประจำตัวสัตว์

พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์Gluta Story

ขณะที่กรมปศุสัตว์ ยืนยันว่าการจัดเก็บค่าลงทะเบียน 450 บาทนั้น ไม่ใช่ภาษีสัตว์เลี้ยง และข้อบัญญัติที่จะออกมานั้นเป็นการเพิ่มอำนาจให้ อปท. แก้ปัญหาสัตว์จรจัดอย่างมีศักยภาพมากขึ้น

นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ สุวัชนะเชาว์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์ และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากกำหนดเป็นกฎหมายแล้ว จะขึ้นอยู่กับ อปท. แต่ละแห่งว่า จะนำไปบังคับใช้หรือไม่ รวมถึงสามารถเรียกเก็บค่าลงทะเบียนน้อยกว่าที่กำหนด หรือไม่เก็บเลยก็ได้

“ค่าลงทะเบียนและค่าปรับ ไม่ได้เข้าสำนักงบประมาณ หรือหน่วยงานใด แต่จะเข้าไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปแก้ปัญหาสัตว์จรจัด ทำสถานพักพิง ทำหมัน ฉีดวัคซีน หรืออื่น ๆ ตามที่เห็นเหมาะสม” นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ ชี้แจง พร้อมยืนกรานว่า จะไม่มีการ “เซ็ต ซีโร่” หรือกำจัด สุนัขหรือแมวจรจัดอย่างแน่นอน

คนไทยเลี้ยงสัตว์เยอะ แต่ไม่มีคุณภาพ

“ผมมีสุนัข 7 ตัว เป็นสุนัขจรจัดทั้งหมด เริ่มเลี้ยงตั้งแต่เป็นนักศึกษา ม.ราชมงคลธัญบุรี เป็นสุนัขที่หลงจากน้ำท่วม ปี 2554 บ้าง ไม่มีจะกินบ้าง หรือถูกขับไล่” เจ้าของเพจ Gluta Story เล่าถึงที่มาของเพจ ที่มุ่งหวังรวมกลุ่มคนรัก และช่วยเหลือสัตว์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ช่วยหาผู้รับเลี้ยงสุนัขจรจัดได้เกือบ 100 ตัวแล้ว

ที่มาของภาพ,GLUTA STORYคำบรรยายภาพ,

“กลูต้า” สุนัขจรจัด ที่สรศาสตร์เก็บมาเลี้ยง ปัจจุบันเป็นขวัญใจชาวเน็ต

ที่มาของภาพ,GLUTA STORYคำบรรยายภาพ,

ลุคใหม่ของอดีตสุนัขจรจัด

สรศาสตร์ จึงอยากเห็นการลงทะเบียนสัตว์ ที่เพิ่มการคัดกรองศักยภาพผู้เลี้ยงด้วย เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นและชาติยุโรปทำ คือดูว่าผู้เลี้ยงมีเวลาดูแลสัตว์ เช่น สุนัขที่จะรับไปเลี้ยงไหม มีรายได้เพียงพอจะดูแลได้หรือไม่ “บางประเทศถึงกับบังคับว่า คุณต้องพาสุนัขไปเดินเล่นเป็นเวลาเท่าไหร่ แม้ว่าข้างนอกหิมะจะตกหนักก็ตาม ส่วนไทยน่ะเลี้ยงสัตว์เยอะ แต่ไม่มีคุณภาพ”

ความเห็นของสรสาสตร์ สอดคล้องกับ นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของแฟนเพจแมว “ทูนหัวของบ่าว” ที่หาเงินช่วยเหลือแมวจรจัด มองว่าในต่างประเทศ การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงและอื่น ๆ อาจต้องเสียเงินเป็นหมื่น หรือถึงแสนบาทก็มี แต่ภาครัฐดูแลจริงจัง นำเงินไปช่วยเหลือศูนย์พักพิง สัตว์จรจัด เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงขึ้นรถสาธารณะได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เธออยากเห็นในประเทศไทย

นัชญ์ ซึ่งเลี้ยงแมวไว้ที่บ้าน 21 ตัว และดูแลแมวจรจัดที่เชลเตอร์ หรือศูนย์พักพิงที่เธอจัดทำขึ้น อีกคราวละกว่า 30 ตัว เล่าถึงความลำบากเวลาต้องพาแมวไปหาหมอ

“ฉันเป็นคนน่าน โรงพยาบาลสัตว์ต้องนั่งรถไป 80 กิโลเมตร มากรุงเทพฯ รถสาธารณะก็เอาแมวขึ้นไม่ได้ จะขึ้นแท็กซี่ หลายครั้งเขาก็ปฎิเสธ รถไฟฟ้ายิ่งไม่ต้องพูดถึง แล้วถ้าเป็นคนธรรมดาที่เขาไม่มีรถยนต์ส่วนตัวล่ะ ต้องบอกว่าลำบากมาก” เธอเล่า ซึ่งเมื่อวาน เธอได้โพสต์สอบถามแฟนเพจ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 3 ล้านคนว่า คิดเห็นอย่างไรกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงนี้ “รัฐบาลโยนหินถามทางมา เราก็โยนหินถามกลับไปบ้าง” นัชญ์ ระบุ

น้องหมาก่อน แมว (อาจ) ทีหลัง

นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ สุวัชนะเชาว์ ระบุว่า ตามข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบว่าปัจจุบันมีสุนัขอยู่ประมาณ 9 ล้านตัวทั่วประเทศ แบ่งเป็นสุนัขจรจัด 1 ล้านตัว ส่วนแมว มีอยู่ 2-3 ล้านตัว

“เราให้อำนาจส่วนท้องถิ่นก็จริง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศว่าจะให้บังคับใช้กับ สัตว์เลี้ยงใดก่อน แนวโน้มคิดว่าจะเป็นสุนัขก่อน ส่วนแมว อาจรอไปอีก 1-2 ปี” เขาอธิบาย

ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์ฯ บอกด้วยว่าในการขึ้นทะเบียนจะมีการจัดทำเครื่องหมาย ประจำตัวสัตว์ด้วยการฝังไมโครชิพ ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 100 บาท หากสั่งในปริมาณมาก อาจลดเหลือ 50 บาท ซึ่งอาจทำให้ค่าขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงลดลงไปอีก ส่วนเครื่องอ่านไมโครชิฟ ราคาอันละประมาณ 2,000-3,000 บาท หรืออาจพิจารณาใช้ “คิวอาร์โค้ด” ด้วย

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ…. จะผ่านความเห็นชอบให้บังคับใช้เป็นกฎหมายได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ในช่วงก่อนเลือกตั้ง และจะไม่มีการแก้ไขอีกภายใน 10 ปีนี้

ส่วนข้อซักถามของกลุ่มคนที่ช่วยเหลือสัตว์จรจัดที่ต้องดูแลสัตว์จำนวนมาก ว่าต้องขึ้นทะเบียนหรือไม่ นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ ชี้แจงว่าเจ้าของสัตว์สามารถไปจดทะเบียนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อรับสถานะเป็น “สถานสงเคราะห์สัตว์” จากนั้นจะเลือกขึ้นทะเบียน หรือไม่ขึ้นทะเบียนก็ได้

เตี้ยอุ้มค่อม ดูแลสัตว์จรจัดมากมาย แต่รัฐไม่ช่วย

ณัฐพร ศรีลา เจ้าของร่วมร้าน Big Dog Café ที่มีสุนัขหายากขนาดใหญ่และเล็ก ถึง 40 ตัว สนับสนุนการขึ้นทะเบียนสัตว์เช่นกัน แต่อยากเห็นสวนสาธารณะอนุญาตให้นำสุนัขเข้าไปได้เพิ่มขึ้น รวมถึงนำเงินที่ได้จากการลงทะเบียน ไปติดตั้งจุดบริการถุงกระดาษตามสวนสาธารณะต่าง ๆ ในกรณีที่สุนัขขับถ่าย

“ผมมีสุนัข 40 ตัว ถ้าต้องจ่าย 450 บาททุกตัว ผมไม่คิดว่าแพงเกินไป ถ้าเค้าทำเต็มรูปแบบ” ณัฐพร ระบุ เขาบอกด้วยว่าเคยนำสุนัขทุกตัวของเขา ไปลงทะเบียนกับสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขแห่งประเทศไทย มาแล้ว โดยเสียค่าใช้จ่ายตัวละ 400-500 บาท และทุกตัวได้รับการฝังไมโครชิฟ หรือตอกหูติดบาร์โค้ด แล้ว ดังนั้นหากเป็นไปได้ อยากให้กรมปศุสัตว์นำข้อมูลสุนัขของเขาไปรวมในฐานข้อมูลเลย

ส่วนเจ้าของเพจทูนหัวของบ่าว ในฐานะคนที่ช่วยเหลือแมวจรจัด กล่าวว่า ต้องการเห็นศูนย์ช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงที่มีศักยภาพ แบ่งแยกสุนัขและแมวชัดเจน เป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถนำสัตว์เลี้ยง ไปปล่อยได้ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่บุคคลที่ช่วยเหลือสัตว์จรจัดด้วย

“คนรักสัตว์อย่างเรา เหมือนเป็นเตี้ยอุ้มค่อม เราใช้เงินเราเองดูแลสัตว์ บางคนมีหลายสิบตัว ภาครัฐไม่ได้ช่วยเลย แต่เพราะเรารักสัตว์ ยังไงก็ต้องทำ” นัชญ์ กล่าว เธอบอกด้วยว่าที่ศูนย์พักพิงของเธอมีคนรอคิวนำแมวมาฝากถึง 300 คิว แต่เธอรับได้คราวละ 30 ตัวเท่านั้น

วิษณุชี้ หากสังคมไม่เห็นด้วย ถอนมติได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่า การจัดระเบียบสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องดี แต่ต้องระวังไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่เมตตาสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และนำสัตว์มาดูแลไว้เป็นจำนวนมาก

“ถ้าเกิดมีกฎหมายควบคุม แต่เกิดปัญหาว่าคนไม่อยากเลี้ยง (สัตว์) แล้ว เพราะเห็นเป็นภาระ และเอาไปปล่อยวัด จะยุ่งกันใหญ่ ต้องมีหน่วยราชการมารองรับสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย นายกฯ บอกไว้แค่นั้น” นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ นายวิษณุกล่าวว่ารัฐบาลรับทราบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม และว่า ครม.อาจพิจารณาถอนมติได้ เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายหลายฉบับ ที่เมื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนของ กฤษฎีกาแล้ว ต้องมีการปรับแก้ในรายละเอียดมากจนไม่สมควรบังคับใช้เป็นกฎหมาย

รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นอีกว่า กฎหมายการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง อาจอนุมัติไม่ทันรัฐบาล ชุดนี้ เพราะต้องใช้เวลาพิจารณา และกว่าจะผ่านสภานิติบัญญัติ นานถึง 1 ปี

สั่งทบทวน หลัง “บิ๊กตู่ ติง

ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนกรานว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด เป็นเพียงร่างกฎหมายที่ต้อง ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีก 3 วาระ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า หลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลดีในการทำให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงมากขึ้น แต่ยังมีบทบัญญัติบางประการ เช่น การขึ้นทะเบียนและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราค่าปรับ ที่อาจเป็นภาระแก่ประชาชนมากเกินไป

คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับร่างพระราชบัญญัตินี้กลับไปพิจารณาทบทวน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประชาชนสามารถแสดง ความเห็นไปยังกรมปศุสัตว์ได้

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยง

ขึ้นทะเบียนหมา-แมว ผู้เลี้ยงขอความชัดเจนจากรัฐบาลเรื่องแผนช่วยเหลือสัตว์ กรมปศุสัตว์ชี้เป็นก้าวแรกแก้ปัญหาสัตว์จรจัด

Related Post

เมื่อหลานแมวเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของลุงหมาเมื่อหลานแมวเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของลุงหมา

ได้ดูทีวีรายการของทางญี่ปุ่น เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง บ้านหลังนึงเลี้ยงสุนัขไว้ 1 ตัว มันแก่มากแล้ว อายุ 12 ปี ถ้าเทียบกับคนก็ต้องเอาเลข 7 คูณเข้าไป กลายเป็นลุงหมาเลยล่ะ. วันๆ ลุงหมาเอาแต่นอนซึมเศร้าอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ที่เจ้าของทำให้ตรงสนามหญ้าหลังบ้าน ลุงหมาไม่เล่น ไม่เดิน ไม่สนใจ ไม่แคร์สื่อ ไม่แยแสอะไรทั้งนั้น นอนซึมไร้ชีวิตชีวาตามวัยที่ร่วงโรย

ตูบหลงทางนั่งเศร้าบนรถโดยสาร โซเชียลช่วยตามหาเจ้าของแต่ไร้วี่แวว! ไม่มีใครทราบว่า สุนัขตัวนี้มาจากไหนและใครเป็นเจ้าของตูบหลงทางนั่งเศร้าบนรถโดยสาร โซเชียลช่วยตามหาเจ้าของแต่ไร้วี่แวว! ไม่มีใครทราบว่า สุนัขตัวนี้มาจากไหนและใครเป็นเจ้าของ

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวออนไลน์ได้ช่วยกันแชร์ภาพของสุนัขสายพันธุ์สแตฟฟอร์ดเชียร์ เทอร์เรีย ตัวหนึ่งที่เดินหลงทางขึ้นไปบนรถโดยสารสาย “620 First Bus” ในเมืองเวสต์ ยอร์คเชอร์ ประเทศอังกฤษ ที่กำลังมุ่งหน้าเข้าเมืองแบรดฟอร์ด ตามลำพัง โดยไม่มีใครทราบว่า สุนัขมาจากไหนและเจ้าของของมันเป็นใคร  …      Gemma Burton พลเมืองดีที่อยู่บนรถโดยสารคันเดียวกับสุนัขหลงทางตัวนี้ เป็นผู้ที่ถ่ายภาพสุนัขที่นั่งหน้าเศร้า ก่อนนำมาแชร์ในโลกออนไลน์ โดยเล่าว่า สุนัขตัวดังกล่าวได้เดินขึ้นรถที่จุดรับ Bierley มันกระโดดขึ้นมานั่งบนเบาด้วยสีหน้าเศร้า ซึ่งระหว่างทางสุนัขพยายามจะลงจากรถแล้วครั้งหนึ่ง แต่จุดดังกล่าวมีรถสัญจรไปมาหนาแน่นและวุ่นวาย ทำให้มันไม่สามารถลงจากรถได้      ผู้โดยสารและพนักงานบนรถโดยสายจึงทำหน้าที่ช่วยกันดูแลสุนัขไปจนถึงสถานีปลายทาง

10 สัตว์เลี้ยงสุดยูนีค เท่ห์ แปลก และน่ารักไม่เหมือนใคร10 สัตว์เลี้ยงสุดยูนีค เท่ห์ แปลก และน่ารักไม่เหมือนใคร

คงไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบสัตว์เลี้ยงประเภทหมา หรือ แมว แต่เชื่อว่าสัตว์ทุก ๆ ตัวจะมีความน่ารักของมันอยู่ ใครที่อยากเลี้ยงสัตว์แต่อยากได้แบบในที่ไมค่อยซ้ำใคร เราขอแนะนำ 10 สัตว์เลี้ยงสุดยูนีค จะมีความเท่ห์ แปลก และน่ารักแค่ไหน ไปดูกันค่ะ 10 สัตว์เลี้ยงสุดยูนีค สัตว์น่าเลี้ยง ทั้งชื่อ และรูปลักษณ์ เก๋มาก บอกเลย สัตว์เลี้ยงสุดยูนีค ไม่มีพิษร้ายแรงสามารถเลี้ยงได้ 1. หนูคาปีบาร่า คาปีบาร่า เป็นหนูที่ไม่เหมือนหนูประเภทแฮมสเตอร์หรือหนูตะเภาเลย เพราะมันมีตัวที่ใหญ่ถึง 4 ฟุตและมีน้ำหนักมากถึง 100 ปอนด์